"แบงค์สีม่วง" จ่าย "สจล." 1,500 ล้านบาท ดูแลความเสียหาย ด้าน "วิชิต" ชี้เป็นการแสดงความรับผิดชอบของธนาคาร-ไม่กระทบฐานะการเงิน
ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารใบโพธิ์ (ไทยพาณิชย์) ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี สจล. และ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังลงนามสัญญาธุรกรรมที่สองฝ่ายบรรลุข้อตกลงเพื่อดูแลความเสียหายอันเกี่ยวเนื่องจากกรณีที่ สจล.ถูกคนร้ายลักทรัพย์เงินคงคลังของสถาบันฯ ราว 1,500 ล้านบาท
สำหรับข้อตกลงร่วมกันระหว่าง สจล.และแบงค์สีม่วงนั้น คือ ไทยพาณิชย์จะให้เงินเพื่อดูแลความเสียหายในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาทแก่ สจล.ตามมูลค่าความเสียหายที่ทาง สจล.ได้ประเมินไว้ ทั้งนี้ การทำความตกลงข้างต้นไม่กระทบต่อการดำเนินคดีจนถึงที่สุด
ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า การที่แบงค์ม่วงให้เงินเพื่อดูแลความเสียหายแก่ สจล.ครั้งนี้นั้น ธนาคารยึดหลักธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อลูกค้าและสังคม ซึ่งกรณีนี้ได้ปรากฏว่ามีพนักงานของธนาคารมีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริต ธนาคารจึงแสดงความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ สจล
ดร.วิชิต กล่าวว่า ธนาคารเห็นว่าหากปล่อยให้เรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างสถาบันยืดเยื้อต่อไปจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อทั้งสอง และอาจส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งในภาคเศรษฐกิจและการศึกษาของประเทศ
“นี่ไม่ใช่เป็นการซื้อหรือจ่ายเพื่อปิดเรื่อง แต่เป็นการให้เงินประกันไว้เพื่อความสบายใจ แต่สุดท้ายแล้วหากพบว่าเสียหายน้อยกว่า ทาง สจล.ก็คืนให้กับธนาคารเท่านั้น” ดร.วิชิต กล่าว
ทั้งนี้ ไทยพาณิชย์มีสินทรัพย์กว่า 2.7 ล้านล้านบาท ดังนั้นกรณีนี้จะไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับธนาคาร โดยเงิน 1,500 ล้านบาทจะจัดอยู่ในงบประมาณค่าใช้จ่ายของธนาคาร
ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี สจล.กล่าวขอบคุณธนาคารไทยพาณิชย์ในการแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทั้ง สจล.และธนาคารไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก โดยในส่วนของ สจล.ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่รีบดำเนินการป้องกันและแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยได้เพิ่มความรัดกุมในทุกกระบวนการธุรกรรมด้านการเงิน และร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดให้ถึงที่สุด รวมทั้งเป็นบทเรียนกับหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย
ศ.ดร.โมไนย ยังกล่าวยืนยันด้วยว่า การบรรลุข้อตกลงครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากการที่ สจล.ได้รับผลกระทบจนขาดสภาพคล่องแล้วทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์เกิดความเห็นใจ เพราะเงินที่หายไปเป็นเงินคงคลังหรือเงินเก็บ
“เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจของธนาคารไทยพาณิชย์ เราจึงเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์” ศ.ดร.โมไนย กล่าว
ส่วนกรณีความเสียหาย 80 ล้านบาทที่เกิดขึ้นระหว่างที่หนึ่งในผู้ต้องหาทำงานอยู่ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยานั้น ศ.ดร.โมไนย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวทางธนาคารกรุงศรีอยุธยาพิสูจน์แล้วว่าเป็นการลงลายมือชื่อปลอม ซึ่งเชื่อว่าทางธนาคารจะไม่นิ่งนอนใจในการดำเนินการหลังจากที่เห็นทางธนาคารไทยพาณิชย์ดำเนินการวันนี้แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการติดต่อมาแต่อย่างใด
สำหรับคดีลักทรัพย์ สจล.มีกลุ่มบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาแล้วคือ
1 นายทรงกลด ศรีประสงค์ อดีตผู้จัดการแบงค์ม่วง
2. น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนการคลัง สจล.
3. อดีตผู้บริหาร สจล.คือ ศ.ถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี
4. ผศ.สรรพสิทธิ์ ลิ่มนรรัตน์ อดีตผู้ช่วยอธิการบดี
ที่ร่วมกันเบิกถอนเงินโดยทุจริตไปฝากเข้าบัญชีกลุ่มบุคคลอื่น ๆ ในลักษณะฟอกเงิน รวมผู้ต้องหาทั้งสิ้น 14 คน ยังหลบหนี 3 คน ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำ 8 คน และได้รับอนุญาตประกันตัว 3 คน
at: http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/636912#sthash.1kG65HGT.dpuf
https://www.facebook.com/public/แบงค์-ม่วงปั่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น